แนวฎีกาเรื่องอายุความตามสัญญาซื้อขาย

887 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แนวฎีกาเรื่องอายุความตามสัญญาซื้อขาย

อายุความตามสัญญาซื้อขายมีหลากหลายประเภทขึ้นอยู่กับประเด็นที่ฟ้อง ดังนั้น เราจึงรวบรวมประเภทของอายุความตามสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อขายมาไว้ให้ได้ศึกษากันครับ

1. อายุความตามสัญญาจะซื้อจะขาย
 
สัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาไม่มีชื่ออย่างหนึ่งและเป็นสัญญาที่กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความสำหรับการใช้สิทธิเรียกร้องไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปีตามมาตรา 193/30 ในการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขาย

ฎีกา 1624/2535 การฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าให้ใช้บังคับเสียภายในระยะเท่าใด จึงต้องถือว่ามีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 (มาตรา 193/30 ในปัจจุบัน)
 
2. อายุความ 2 ปี

ใช้กรณีผู้ประกอบการค้าฟ้องเรียกค่าสินค้าที่ได้ส่งมอบให้ผู้ซื้อแล้ว โดยผู้ซื้อไม่ได้เอาสินค้านั้นไปใช้ในกิจการของผู้ซื้อเอง

ฎีกาที่ 3915/2549 การซื้อขายสินค้าดังกล่าวตกลงชำระเงินโดยโอนผ่านธนาคารเข้าบัญชีของโจทก์ภายใน 90 วัน นับถัดจากวันที่ลงในใบตราส่ง คือนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2544 จำเลยจึงต้องชำระเงินภายในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2544 หากจำเลยไม่ชำระโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากจำเลยได้นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไป อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 จึงยังอยู่ในระยะเวลา 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
 
3. อายุความ 5 ปี

ใช้กรณีผู้ประกอบการค้าฟ้องเรียกค่าสินค้าที่ตนได้ส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อแล้วโดยผู้ซื้อได้เอาสินค้านั้นไปใช้เพื่อกิจการของผู้ซื้อเอง เช่น ซื้อลิฟต์พร้อมบริการติดตั้งเพื่อนำไปใช้ในกิจการหอพักหรือคอนโดของผู้ซื้อเอง เป็นต้น

ฎีกาที่ 3548/2552 โจทก์ขายกระแสไฟฟ้าแก่จำเลยที่ 1 เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโรงงานผลิตฟิล์มของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง สิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าของโจทก์จึงเข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แต่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

ฎีกาที่ 8007/2548 หนี้ที่เกิดจากการที่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงแรมได้ซื้ออุปกรณ์เครื่องครัวพร้อมการติดตั้งจากเจ้าหนี้ เป็นการกระทำเพื่อหากำไรในการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ต่อไป จึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1)

ฎีกาที่ 14887/2551 คำว่า "กิจการของฝ่ายลูกหนี้" หาได้มีความหมายจำกัดเพียงว่า ต้องเป็นการซื้อสินค้ามาเพื่อจำหน่ายอีกต่อหนึ่งหรือต้องเป็นการซื้อวัตถุดิบมาเพื่อผลิตเป็นสินค้าเท่านั้นไม่ แต่ต้องพิจารณาถึงลักษณะของการประกอบกิจการของลูกหนี้เป็นกรณีไป
 
4. ผู้ซื้อฟ้องเรียกค่าสินค้าคืน อายุความ 10 ปี

การฟ้องเรียกค่าสินค้าคืนอาจเกิดขึ้นได้ 3 กรณี คือ

1) ผู้ซื้อ เลิกสัญญาซื้อขาย เนื่องจากผู้ขายผิดสัญญา ทั้งสองฝ่ายจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 กรณีนี้ ผู้ขายต้องคืนเงินที่รับชำรไปแล้วให้แก่ผู้ซื้อพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด และกรณีนี้ไม่มีอายุความกำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ฎีกาที่ 784/2537 สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินกรณีสัญญาซื้อขายเลิกกันไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10  ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (เดิม)

2) เป็นกรณีที่ผู้ขายส่งมอบสินค้าไม่ครบจำนวน ผู้ซื้อไม่ฟ้องบังคับให้ส่งมอบสินค้าให้ครบถ้วน แต่เลือกที่จะฟ้องให้คืนราคาตามส่วนแทน กรณีนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้ อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

กรณีนี้ไม่ใช่รื่องที่ผู้ขายส่งมอบสินค้าขาดตกบกพร่องแล้วผู้ซื้อฟ้องให้ส่งมอบของให้ครบถ้วนตามมาตรา 467 แต่อย่างใด จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของอายุความ 1 ปีนับแต่ส่งมอบ

ฎีกาที่ 1691/2534 โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าซื้อข้าวบางส่วนคืนโดยอ้างว่าจำเลยส่งมอบข้าวน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงกัน มิใช่ฟ้องในข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวน ดังนั้นจึงนำอายุความตามมาตรา 467 มาปรับมิได้ การฟ้องเรียกเงินคืนในกรณีนี้มิได้มีอายุความกำหนดไว้

3) เป็นกรณีที่ผู้ขายส่งมอบสินค้าไม่ตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขาย ผู้ซื้อจึงฟ้องเรียกเงินคืนตามส่วน กรณีนี้เป็นเรื่องที่ผู้ขายชำระหนี้ไม่ต้องตามความประสงค์แห่งมูลหนี้โดยไม่ได้ส่งมอบสินค้าที่ชำรุดในเนื้อทรัพย์สิน จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปีมาปรับแทน กรณีไม่ใช่เรื่องอายุความ 1 ปีฐานสินค้าที่ส่งมอบชำรุดบกพร่องแต่อย่างใด

ฎีกา 8339/2540 การเรียกคืนเงินส่วนที่ชำระเกินในกรณีโจทก์ส่งมอบสินค้าไม่ถูกต้องตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ หาใช่เป็นเรื่องความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องซึ่งมีอายุความ 1 ปีไม่ และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะอายุความ จึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (เดิม)
 
5. อายุความกรณีผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวน   

มีอายุความ 1 ปีนับแต่เวลาที่ส่งมอบ ตามมาตรา 467 โดยอาจอธิบายเป็นกรณีได้ดังนี้

1) หากฟ้องให้ “ส่งมอบ” ที่ดินส่วนที่ไม่ครบจำนวนตามที่ตกลงกันไว้ ผู้ซื้อหรือผู้จะซื้อต้องฟ้องภายใน อายุความ 1 ปี นับตั้งแต่ส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 467

ฎีกาที่ 2100/2535 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ จำนวน 104 ตารางวาโดยจะแบ่งแยกที่ดินจากที่ดินฝืนใหญ่เป็นที่ดินแปลงย่อย 4 แปลงมีเนื้อที่แปลงละ 26 ตารางวา ต่อมาเมื่อแบ่งแยกแล้วปรากฏว่าที่ดินทั้งสี่แปลงมีเนื้อที่แปลงละ 24 ตารางวา คงขาดเนื้อที่ดินไปแปลงละ 2 ตารางวา รวม 8 ตารางวา ถือว่าผู้ขายคือจำเลยส่งมอบที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ที่ซื้อขายขาดตกบกพร่อง โจทก์ต้องฟ้องคดีให้จำเลยรับผิดในการแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์อีก 8 ตารางวาหรือชดใช้เงินแทนภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467

ฎีกาที่ 2162/2542 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 ห้ามฟ้อง ในกรณีที่มีการส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อขายขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนจากที่ตกลงซื้อขายกันเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ ดังนั้น หากผู้ซื้อต้องการเรียกร้องให้ผู้ขายส่งมอบที่ดินที่ขาดจำนวนเพื่อให้ตรงตามที่ตกลงซื้อขายกัน ผู้ซื้อต้องฟ้องให้ผู้ขายรับผิดส่งมอบที่ดินส่วนที่ขาดดังกล่าวแก่ผู้ซื้อภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนซื้อขาย

2) หากฟ้องให้ “ชดใช้ค่าที่ดินส่วนที่ขาดไป” โดยไม่ได้ฟ้องให้ส่งมอบที่ดินส่วนที่ขาด ก็เป็นการฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาเท่านั้น กรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องฟ้องภายใน อายุความ 10 ปี

ฎีกาที่ 6368/2541 โจทก์และจำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขาย และได้มีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่กันไปแล้ว ซึ่งตามสัญญาระบุว่าเป็นการซื้อขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. รวม 3 ฉบับ เนื้อที่ 92 ไร่ และได้กำหนดไว้ในสัญญาว่า เนื้อที่ 92 ไร่ ถ้าทำการรังวัดแล้วน้อยกว่า 90 ไร่ ผู้ขายจะยอมชดใช้ให้ครบตามจำนวนที่แจ้งไว้โดยจ่ายเป็นค่าชดใช้ไร่ละ 43,000 บาท การที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าที่ดินที่ขาดไปจึงเป็นการฟ้องให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขาย สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนตามสัญญานี้ กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 สัญญาจะซื้อจะขายทำเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2533 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2536 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
 
6. อายุความกรณีผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินที่ชำรุดบกพร่อ

1) อายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่ได้ พบเห็น ความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 474

ฎีกาที่ 3185/2531 การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายที่โจทก์เสียไปในการซ่อมแซมหม้อแปลงไฟฟ้าที่จำเลยขายให้โจทก์ซึ่งเกิดชำรุดขึ้นภายในระยะเวลาที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบ เป็นการฟ้องจำเลยให้รับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง มิใช่เป็นการฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย หรือเลิกสัญญากับจำเลย โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยภายใน 1 ปีนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474

2) อายุความ 1 ปีเริ่มนับตั้งแต่เมื่อ ตรวจพบความชำรุดบกพร่องจริง ๆ หากผู้ตรวจสินค้าไม่มีความรู้เรื่องสินค้า จึงไม่ทราบว่ามีความชำรุดบกพร่อง จะถือว่าผู้ซื้อพบความชำรุดบกพร่องนับแต่วันที่ตรวจไม่ได้

ฎีกาที่ 5584/2544 ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิทหรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามาจึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
 
7. อายุความกรณีรอนสิทธิ

กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้ อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ฎีกา 7407/2540 โจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญารับรองกับโจทก์ว่าไม่มีการรอนสิทธิ โดยโจทก์มิได้ฟ้องร้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดเพราะการรอนสิทธิ การฟ้องร้องว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาเรียกค่าเสียหายในกรณีเช่นนี้ ไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถือบทบัญญัติอายุความทั่วไปคือ 10 ปี
 
8. อายุความ 3 เดือนกรณีไม่เรียกผู้ขายเข้ามาในคดีกรณีรอนสิทธิ

เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 481 ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่

ก) กรณีที่บุคคลภายนอกฟ้องผู้ซื้อเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ซื้อขาย ทำให้ผู้ซื้อถูกรอนสิทธิ แต่ผู้ซื้อไม่ได้ขอให้ศาลหมายเรียกผู้ขายเข้ามาในคดีเพื่อเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ผู้ขายจึงไม่มีโอกาสได้นำเสนอพยานหลักฐานเข้าสู้คดีเพื่อพิสูจน์หรือช่วยป้องกันสิทธิของผู้ซื้อได้ หากผู้ซื้อจะฟ้องผู้ขายฐานรอนสิทธิเป็นคดีต่างหาก ก็ต้องฟ้องภายในอายุความ 3 เดือนนับแต่วันที่คดีระหว่างผู้ซื้อกับบุคลภายนอกถึงที่สุด   

ข) เป็นกรณีที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างผู้ซื้อกับบุคคลภายนอกตามมาตรา 850 ทำให้สิทธิเรียกร้องเดิมระงับและเกิดสิทธิเรียกร้องใหม่ขึ้นมาตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้ผู้ซื้อเสียสิทธิไปทั้งที่ควรจะให้ผู้ขายได้เข้ามาเพื่อชี้แจง หากผู้ซื้อจะฟ้องผู้ขายฐานรอนสิทธิในกรณีนี้ ก็ต้องฟ้องภายในอายุความ 3 เดือนนับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

ค) เป็นกรณีที่ไม่มีการฟ้องร้องระหว่างบุคคลภายนอกกับผู้ซื้อ แต่ผู้ซื้อไปยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องด้วยความสมัครใจของตนเอง ผู้ขายจึงไม่มีโอกาสเข้าต่อสู้ปกป้องสิทธิของผู้ขายได้ หากผู้ซื้อจะฟ้องผู้ขายฐานรอนสิทธิในกรณีนี้ ต้องฟ้องภายในอายุความ 3 เดือนนับแต่วันที่ยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง

การยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เพราะถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น เพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเนื่องจากเป็นรถยนต์ของผู้อื่นที่ถูกลักมา เป็นต้น

ฎีกา 603/2535 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายรถยนต์ให้โจทก์ ต่อมาปรากฏว่าเป็นรถยนต์ของผู้อื่นที่ถูกคนร้ายลักไป เจ้าพนักงานตำรวจจึงได้ยึดรถยนต์ไปจากโจทก์ ขอให้จำเลยใช้ราคารถยนต์พร้อมด้วยค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า โจทก์ถูกรอนสิทธิเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2526 แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว แม้คำให้การของจำเลยจะไม่ระบุระยะเวลาที่เป็นอายุความไว้ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติเรื่องอายุความรับผิดในการรอนสิทธิไว้ในลักษณะซื้อขาย มาตรา 481 เพียงมาตราเดียว โดยกำหนดอายุความไว้สามเดือน จึงพอถือได้ว่าจำเลยต่อสู้ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความในเรื่องความรับผิดในการรอนสิทธิแล้ว การที่จะนำอายุความสามเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 481 มาใช้บังคับนั้น ข้อเท็จจริงต้องได้ความว่า โจทก์ได้ประนีประนอมยอมความคืนรถยนต์ให้แก่บุคคลภายนอก หรือยอมคืนรถยนต์ให้ตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง การที่รถยนต์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเนื่องจากเป็นรถยนต์ของผู้อื่นที่ถูกลักมาจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ความรับผิดของจำเลยผู้ขายจึงไม่ตกอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 481 แต่ต้องตกอยู่ในอายุความทั่วไปตามมาตรา 164 (เดิม) ซึ่งมีอายุความสิบปี

ขอบคุณครับ

บทความโดย 

พุทธพจน์ นนตรี 

ทนายความ

สำนักกฎหมายณัฐพจน์ ลีกัล เซอร์วิส ให้บริการว่าความในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้มีอรรถคดี

ท่านสามารถตรวจสอบบริการของเราได้ที่หัวข้อ “บริการ” ในเว็บไซต์หรือติดต่อเราผ่านช่องทางที่ระบุไว้ด้านล่างสุดของหน้าหรือในหัวข้อ "ติดต่อเรา" ครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้