ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองได้หรือไม่

470 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองได้หรือไม่

เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาททันที
 
กรณีมรดกของผู้ตายมีไม่มากและสามารถตกลงแบ่งกันได้โดยง่าย ก็อาจไม่จำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดกขึ้นทำหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกก็ได้
 
แต่หากมรดกของผู้ตายมีมาก หรือมีเหตุขัดข้องจนจำเป็นต้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ก็จำเป็นต้องตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้ทำหน้าที่จัดการมรดกต่อไป

ผู้จัดการมรดกที่ตั้งกันขึ้นมานี้อาจจัดการมรดกได้เรียบร้อยหรือไม่เรียบร้อยก็ได้
 
กรณีที่เห็นกันบ่อยก็คือ การโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองโดยขัดกับประโยชน์ของทายาทอื่น

กรณีเช่นนี้จะถือเป็นการ ทำนิติกรรมใดซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก หรือไม่ 

พิเคราะห์ได้จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปนี้ครับ
 
1. กรณีผู้จัดการมรดกเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก
 
หากผู้จัดการมรดกเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกอยู่แล้วและโอนทรัพย์สินส่วนที่ตัวเองมีสิทธิได้ให้แก่ตนเอง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่ใช่ การทำนิติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก
 
ฎีกาที่ 1410/2529 น. และจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของ ส. ต่างก็เป็นทายาทของเจ้ามรดกโดย น. เป็นภรรยา ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบุตร การที่บุคคลทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกอยู่แล้วมิใช่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก
 
ฎีกาที่ 6932/2540 แม้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการโอนที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวโดยมิได้ขออนุญาตศาล แต่จำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกอยู่แล้ว จึงมิใช่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก อันเป็นการฝ่าฝืน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722
 
ฎีกาที่ 2220/2552 การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกของ ส. บางส่วนให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่ตนเป็นทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสของ ส. และให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ซึ่งเป็นทายาทของ ส. อีกคนหนึ่ง การกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722
 
2. กรณีผู้จัดการมรดกมิใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก
 
การไม่มีสิทธิรับมรดกอาจเกิดจากสาเหตุที่ผู้จัดการมรดกเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ทายาทของเจ้ามรดกและไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเลย หรือเป็นทายาทของเจ้ามรดกแล้วแต่ต่อมาเสียสิทธิในการรับมรดกเนื่องจากถูกกำจัด ตัด หรือสละสิทธิในการรับมรดกในภายหลัง เช่น ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกตามมาตรา 1606 เนื่องจากปลอมพินัยกรรม เป็นต้น (อ้างอิงข้อเท็จจริงจากฎีกาที่ 10738/2551) กรณีนี้ ผู้จัดการมรดกดังกล่าวม่มีสิทธิโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองเพราะจะเป็นการทำนิติกรรมโอนทรัพย์มรดกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกทันที
 
ฎีกาที่ 3508/2525 จำเลยเป็นพี่น้องกับผู้ตายและเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายร่วมกับโจทก์ ได้เอาทรัพย์สินกองมรดกมาทำสัญญาแบ่งให้ตนเอง ประโยชน์ส่วนได้เสียของจำเลยย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก แม้จะเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวก็ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 (คดีนี้ จำเลยไม่ได้เป็นทายาทลำดับต้นที่มีสิทธิรับมรดก แต่เป็นทายาทชั้นห่างที่ถูกทายาทชั้นสนิทตัดไม่ให้รับมรดก แม้เป็นพี่น้องกับผู้ตาย ก็ไม่ใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกแต่อย่างใด)
 
ฎีกาที่ 10738/2551 คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,560,140 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,850,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9161 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนอง ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ตามขอ และต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองเพื่อนำออกขายทอดตลาด

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9161 ที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์เดิมเป็นของนางบัวคลี่ซึ่งเป็นมารดาผู้ร้องและจำเลย จำเลยปลอมพินัยกรรมของนางบัวคลี่และนำไปประกอบในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่ และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แล้วนำไปจำนองไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้เงินกู้ ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้างในการขอเป็นผู้จัดการมรดกเป็นโมฆะ และถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่คดีถึงที่สุดแล้ว ขณะยื่นคำร้องนี้ผู้ร้องกำลังดำเนินการรวบรวมเอกสารเพื่อยื่นฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาท ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและหรืองดการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9161 ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีที่ผู้ร้องยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองถึงที่สุด

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้กล่าวอ้างในคำร้องว่าการออกหมายบังคับคดีและหรือคำสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมายบังคับคดีและหรืองดการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท หนี้จำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงชอบที่จะบังคับจำนองได้ ส่วนการร้องขอให้เพิกถอนผู้จัดการมรดกเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องกับจำเลย หากกระทบถึงสิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ไม่ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่ปรากฏว่าการบังคับคดีหรือคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งไม่เข้าเหตุที่จะต้องงดการบังคับคดีไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 หรือมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดีตาม มาตรา 296 และ 309 ทวิ วรรคสอง ส่วนการที่จำเลยถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกรวมทั้งปัญหาว่าจำเลยมีสิทธิจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปว่ากล่าวเอากับจำเลยเอง หากระทบสิทธิของโจทก์ในการบังคับคดีไม่ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกคำร้องของผู้ร้องโดยเห็นว่า ตามคำร้องผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 นั้นเป็นการชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำเลยไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์เดิมเป็นของนางบัวคลี่ซึ่งเป็นมารดาผู้ร้องและจำเลย จำเลยปลอมพินัยกรรมของนางบัวคลี่และนำไปประกอบในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่ และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จากนั้นได้นำไปจำนองไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พินัยกรรมที่จำเลยอ้างว่าเจ้ามรดกผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่จำเลยและตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเป็นโมฆะ โดยมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นในคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่วินิจฉัยแล้วว่าพินัยกรรมที่จำเลยใช้อ้างในการยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่เป็นโมฆะ และถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวคลี่คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าขณะที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของนางบัวคลี่ให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวทั้งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่ยกขึ้นกล่าวอ้าง เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของนางบัวคลี่อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โดยถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงยังคงเป็นของกองมรดกของนางบัวคลี่อยู่ตามเดิมสัญญาจำนองที่จำเลยในฐานะส่วนตัวทำกับโจทก์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาทเพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตาม ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ เดิมเป็นของนางบัวคลี่ซึ่งเป็นมารดาผู้ร้องและจำเลย จำเลยปลอมพินัยกรรมของนางบังคลี่และนำไปยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแล้วนำไปจำนองเพื่อประกันหนี้เงินกู้แก่โจทก์ ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้างขอเป็นผู้จัดการมรดกเป็นโมฆะ และมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี เป็นคำร้องที่มีความหมายว่าโจทก์ขอออกหมายบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทซึ่งมิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับจำนองไว้โดยชอบเพราะไม่ได้รับจำนองไว้จากผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่เป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 282 วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าผู้ร้องกล่าวอ้างว่าหมายบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคหนึ่งแล้ว การที่โจทก์ยื่นคำขอโดยระบุเฉพาะเจาะจงว่าให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาท และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ตามขอนั้นถือได้ว่าเป็นการออกหมายบังคับคดีโดยไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวแล้วก็ไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องอีก”

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ทั้งสามศาลให้เป็นพับ
 
3. ผลของการที่ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก
 
การที่ผู้จัดการมรดกซึ่งไม่มีสิทธิรับมรดกโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเอง เป็นการทำนิติกรรมที่ส่วนได้เสียของผู้จัดการมรดกเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 นิติกรรมดังกล่าวจึงตกเป็น โมฆ ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฎีกาที่ 10738/2551)
 
4. สรุป
 
ผู้จัดการมรดกเฉพาะกรณีที่ตั้งตามพินัยกรรมหรือตามคำสั่งศาลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย หน้าที่ดังกล่าวรวมถึงหน้าที่ในการไม่ทำนิติกรรมใด ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกด้วย
 
หากผู้จัดการมรดกเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกอยู่แล้วและทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินให้แก่ตนเองในส่วนที่ตนเองมีสิทธิได้ นิติกรรมนั้นย่อมไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก
 
แต่หากผู้จัดการมรดกเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่มีสิทธิรับมรดกหรือเป็นทายาทที่เสียสิทธิในการรับมรดกในภายหลังไม่ว่าด้วยเหตุใดก่อนทำนิติกรรม ผู้จัดการมรดกนั้นย่อมไม่มีสิทธิโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเอง 
 
ขอบคุณครับ
 
บทความโดย
 
พุทธพจน์ นนตรี
 
ทนายความ
 
สำนักกฎหมายณัฐพจน์ ลีกัล เซอร์วิส ให้บริการว่าความในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้มีอรรถคดี

ท่านสามารถตรวจสอบบริการของเราได้ที่หัวข้อ “บริการ” ในเว็บไซต์หรือติดต่อเราผ่านช่องทางที่ระบุไว้ด้านล่างสุดของหน้าหรือในหัวข้อ "ติดต่อเรา" ครับ
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้