สิทธิทำข้อตกลงเพื่อทำงานจากที่บ้านตามกฎหมายแรงงานใหม่

173 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สิทธิทำข้อตกลงเพื่อทำงานจากที่บ้านตามกฎหมายแรงงานใหม่

“กฎหมายแรงงานแก้ไขใหม่” เพิ่มมาตรา 23/1 เข้าไป “มีผลบังคับใช้ 18 เมษายน 2566”
 
ปัจจุบันนี้มีงานหลายประเภทที่สามารถทำจากที่ไหนก็ได้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมายจึงแก้ไขใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน
 
เนื้อหาที่แก้ไข อาจพอสรุปได้ดังนี้ครับ
 
1. Right to Work from Home (สิทธิที่จะทำงานจากที่บ้าน)
 
หลายประเทศยังไม่รับรองให้การทำงานที่บ้านเป็นสิทธิในทางกฎหมาย (legal right) แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้รับรองไว้เรียบร้อยแล้วครับ
เมื่อรับรองเป็นสิทธิไว้ในกฎหมายแล้ว ก็อาจมีผลที่ตามมาดังต่อไปนี้ครับ
 
ก) นายจ้างกับลูกจ้างมีสิทธิตกลงกัน “เป็นหนังสือ” หรือ “ผ่านอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์” (เช่น อีเมล์ เป็นต้น) กำหนดให้ลูกจ้างนำงานของสำนักงานที่ "โดยสภาพสามารถนำกลับไปทำที่บ้านเอากลับไปทำที่บ้านได้" หรือตกลงกันให้ทำงานผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ได้แทนที่จะบังคับให้ต้องมาตอกบัตรเข้างานที่ออฟฟิศ เช่น ทำงานหรือสั่งงานผ่านอีเมล์หรือผ่านไลน์ได้ เป็นต้น
 
ข) สัญญาจ้างแรงงาน (จ้างพนักงาน) ที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายมาตรานี้ต้อง “แก้” ให้สอดคล้องกับกฎหมายตัวนี้เพราะหากไม่สอดคล้องแล้ว ข้อสัญญานั้นจะตกเป็นโมฆะทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 150 เช่น หากสัญญาเดิมเขียนไว้ว่า ให้ลูกจ้างทำงานที่ออฟฟิศเท่านั้น ห้ามทำงานที่อื่นใดนอกเหนือจากนี้ (ทั้งที่โดยสภาพงานบางงานสามารถทำจากที่บ้านได้) ข้อสัญญาแบบนี้ก็เสี่ยงขัดต่อกฎหมายที่แก้ไขใหม่เพราะเป็นการตัดสิทธิไม่ให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านได้เลย ฝ่าย HR ควรแก้สัญญาให้สอดคล้องกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่โดยอาจตัดข้อความที่บอกว่าห้ามทำงานที่อื่นใดนอกจากที่ออฟฟิศออก แล้วให้ใส่ข้อความว่า ให้ลูกจ้างทำงานที่ออฟฟิศ แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะให้ทำงานที่บ้านได้หากโดยสภาพของงานหรือในกรณีจำเป็นสามารถนำงานกลับไปทำที่บ้านได้ เป็นต้น

แต่หากโดยสภาพของงานเอากลับมาทำที่บ้านไม่ได้ เช่น งานพนักงานเสิร์ฟ หรืองานโรงงาน เป็นต้น นายจ้างก็ยังมีสิทธิกำหนดสถานที่ทำงานของลูกจ้าง คือ ให้ทำงานที่สถานประกอบการหรือโรงงาน เป็นต้น ลูกจ้างอ้างสิทธิตัวนี้ไม่ได้เพราะไม่เข้าเงื่อนไข
 
ค) ในส่วนตัวอย่างเนื้อหาของข้อตกลง เราสามารถเปิดดูมาตรา 23/1 ได้ครับ ในนั้นจะกำหนดตัวอย่างคร่าว ๆ ว่าข้อตกลงให้เอางานกลับไปทำที่บ้านนั้นควรมีอะไรบ้างเป็นอย่างน้อย
 
2. Right to Disconnect (สิทธิที่จะไม่ติดต่อกับที่ทำงานหลังเลิกงาน)
 
วรรคสามของมาตรา 23/1 กำหนดสิทธิที่เรียกว่า “Right to disconnect” หรือ “สิทธิที่จะไม่ติดต่อกับที่ทำงานหลังเลิกงาน” เพราะเมื่อเลิกงาน คนก็อยากอยู่เป็นส่วนตัว ไม่อยากเอาภาระงานแบกกลับมาบ้านด้วย กฎหมายจึงรับรองสิทธิตรงนี้เข้าไป
 
อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างให้ลูกจ้าง “เซ็นหนังสือยินยอม” ล่วงหน้าไว้ว่าให้นายจ้างมีสิทธิติดต่อกับลูกจ้างหลังเลิกงานได้ ลูกจ้างก็อ้างสิทธิตัวนี้ไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะงานบางงานเป็นงานสำคัญ จะตัดสิทธิไม่ให้ติดต่อกันอย่างเด็ดขาดเลยก็คงประหลาด อาจเสียหายแก่งานและเสียหายแก่นายจ้างโดยไม่สมควร
 
3. ทำงานที่บ้านก็มีสิทธิเสมือนทำงานที่ออฟฟิศ
 
ทั้งนี้ เพราะวรรคสุดท้ายของมาตรา 23/1 รับรองว่า ลูกจ้างที่ทำงานที่บ้าน ที่พักอาศัย หรือผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศไม่ว่าจากสถานที่ใด เช่น จากโรงแรมหรือร้านกาแฟ เป็นต้น ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานที่ออฟฟิศหรือสถานประกอบการของนายจ้าง
 
ขอบคุณครับ

บทความโดย

พุทธพจน์ นนตรี (ทนายเนส)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้