ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ (Arbitration Clause) สำคัญกว่าที่คิด

109 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ (Arbitration Clause) สำคัญกว่าที่คิด

ข้อสัญญา อนุญาโตตุลาการ” หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Arbitration clause เป็นข้อสัญญาที่พบได้ทั่วไปในสัญญาที่มีความซับซ้อนและคู่สัญญาไม่ประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทกันที่ศาล แต่ประสงค์ให้บุคคลที่เรียกว่า "อนุญาโตตุลาการ" (arbitrator) ทำหน้าที่พิจารณาและชี้ขาดข้อพิพาทนั้นแทน

“อนุญาโตตุลาการ” คือใคร 

อนุญาโตตุลาการ คือ คนที่คู่สัญญาไว้ใจให้ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทเมื่อเกิดข้อพิพาท (dispute หรือ difference) จากสัญญาขึ้น ส่วนมากมักเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ อย่างมาก 

สัญญาที่มีมูลค่าสูงหรือสัญญาที่มีเนื้อหาซับซ้อน เช่น สัญญาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เป็นต้น มักมีข้อสัญญานี้อยู่

เหตุผลที่ใส่ข้อสัญญานี้ลงไปเพราะคู่สัญญาไม่ไว้ใจศาลว่าจะตัดสินคดีได้อย่างถูกต้องหรือไม่เพราะศาลมักไม่ใช่ “ผู้เชี่ยวชาญ” ในเรื่องที่พิพาทกันตามสัญญาที่ซับซ้อนมาก ๆ คู่สัญญาเลยตั้งผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ มาเป็นผู้ชี้ขาดเสียเลยหากเกิดข้อพิพาทจากสัญญานี้ขึ้น

ข้อสัญญานี้ไม่ได้มีไว้ “หรูๆ” ในสัญญาเหมือนที่ซีเนียร์อินเฮาส์บริษัทใหญ่ ๆ บางท่านเข้าใจ แต่มันมีความสำคัญมากกว่าที่คิด

เพราะ

1) เมื่อใส่เข้าไปในสัญญาแล้ว คู่สัญญามีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการก่อนกรณีเกิดข้อพิพาทจากสัญญาขึ้น จะด่วนฟ้องศาลทันทีไม่ได้ 

2) หากฝ่าฝืนฟ้องศาลไปทันที อีกฝ่ายยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้เพื่อให้กลับไปตั้งอนุญาโตตุลาการมาทำหน้าที่ชี้ขาดแทน

3) ค่าตัวอนุญาโตตุลาการมัก “แพง” ค่าธรรมเนียมและค่าป่วยการอื่น ๆ ก็มัก “แพง” ด้วย นี่ยังไม่รวมค่าล่าม ค่าแปลเอกสาร ค่าที่พัก ฯลฯ อีก นอกจากนี้ สถาบันอนุญาโตตุลาการแต่ละแห่งก็มีค่าธรรมเนียมต่างกันด้วย

4) อนุญาโตฯ ชี้ขาดอย่างไร คำชี้ขาดนั้นย่อม “ผูกพัน” คู่สัญญาทุกฝ่ายทันที จะไปฟ้องศาลขอให้กลับคำชี้ขาด (award) นั้นไม่ได้ เว้นแต่ขอให้ “เพิกถอน” คำชี้ขาดเพราะตัวคำชี้ขาดขัดต่อกฎหมายหรือขั้นตอนกระบวนวิธีเรื่องอนุญาโตตุลาการเอง ต่างจากกรณีฟ้องศาลที่ยังอุทธรณ์และขออนุญาตฎีกาได้ถ้าไม่พอใจคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์

5) เมื่อได้คำชี้ขาดแล้ว ฝ่ายที่ชนะเอาคำชี้ขาดนั้นไปบังคับคดีได้เลยโดยร้องขอต่อศาลให้รับรองให้ เมื่อศาลรับรองแล้วก็บังคับได้เหมือนคำพิพากษาทั่วไปทันที

6) คำชี้ขาดโดยอนุญาโตฯ “เมืองนอก” สามารถเอามาบังคับในไทยได้เพราะไทยเป็นภาคีในนิวยอร์กคอนเวนชั่น ศาลไทยต้องรับรอง (recognize) และบังคับ (enforce) ตามคำชี้ขาดนั้นโดยไม่สามารถแก้เนื้อหาในนั้นได้ เว้นแต่ตัวคำชี้ขาดเอง “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ” หรือ “ผิดในส่วนขั้นตอนเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ” เช่น อนุญาโตฯ มีส่วนได้เสียฯ หรือตั้งอนุญาโตฯ ไม่ถูกขั้นตอน เป็นต้น ศาลจึงจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้ แต่ไม่มีอำนาจไปแก้เนื้อหาของคำชี้ขาดนั้นได้แต่อย่างใด ทำได้แค่เพิกถอน



ในทางปฏิบัติ ปัญหาจากข้อสัญญานี้มีหลากหลาย เช่น

1) สัญญานี้อาจนำไปใช้เพื่อ “เอาเปรียบ” คู่สัญญาอีกฝ่ายได้ในสัญญา “ระหว่างประเทศ” เช่น ฝ่าย A เป็นสิงคโปร์ ฝ่าย B เป็นคนไทย ฝ่าย A มีอำนาจต่อรองมากกว่า จึงใส่ในสัญญาว่าถ้าเกิดข้อพิพาทจากสัญญาขึ้น เช่น A เบี้ยวไม่จ่ายตังค์ ก็ให้ไปใช้อนุญาโตฯ ที่สิงคโปร์ (ซึ่งแพงมาก ๆ) และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่สิงคโปร์ด้วย ดังนั้น หาก A เบี้ยวไม่จ่ายตังค์ B จะฟ้องศาลไทยให้ดำเนินคดี A ไม่ได้เพราะต้องไปใช้อนุญาโตฯที่สิงคโปร์ก่อน B จึงเสียเปรียบเพราะอนุญาโตฯที่นั่น “แพง” และต้องบินไปกลับบ่อย ๆ ด้วยค่าใช้จ่ายตัวเอง บางครั้งไม่คุ้มค่าจ้างที่เรียกเอาจาก A ด้วยซ้ำ

2) การใช้ พ.ร.บ. ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ของไทยมาแก้ปัญหาอาจทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะ 

ก) กฎหมายตัวนี้เป็นเรื่องระหว่าง “ผู้ประกอบธุรกิจ” กับ “ผู้บริโภค” หากสัญญาที่ทำไม่ใช่สัญญญาระหว่างบุคคลดังกล่าว แต่เป็นสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกัน เช่น บริษัทค้าข้าวระหว่างประเทศ เป็นต้น ก็ใช้กฎหมายตัวนี้ไม่ได้

ข) ศาลจะพิจารณาข้อพิพาทโดยใช้ พ.ร.บ. ข้อสัญญาไม่เป็นธรรมได้ต่อเมื่ออีกฝ่ายยินยอมขึ้นศาลในฐานะจำเลย หากฝ่าย A คนสิงคโปร์ไม่ขึ้นศาลไทย แต่แต่งทนายมาร้องให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากศาลไทย ศาลไทยก็จะไปวินิจฉัยเรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้เพราะจะเป็นการวินิจฉัย “นอกประเด็น” ทันที

ค) ผมยังไม่เคยเห็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าข้อสัญญาอนุญาโตฯ ลักษณะนี้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมครับ อย่างไรก็ตาม ถ้ามี ก็ช่วยแชร์ข้างล่างได้ครับ

ดังนั้น ข้อสัญญาอนุญาโตฯนี้จึงไม่ได้มีไว้ “หรู ๆ” เท่านั้น แต่มีผลตามมา (implications) อยู่ไม่ใช่น้อย

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ

ขอบคุณครับ

บทความโดย

พุทธพจน์ นนตรี (ทนายเนส)


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้