เงื่อนไข CIF ในสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ

126 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เงื่อนไข CIF ในสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ

CIF เป็นข้อกำหนดทางการค้าระหว่างประเทศ (trade terms) ที่นิยมกันแพร่หลาย ย่อมาจากคำว่า costs, insurance, freight (ต้นทุน ประกันภัย ระวางสินค้า)

CIF เป็นข้อกำหนดทางการค้าที่มีมานานแล้ว แต่เพิ่งเอามากำหนดไว้ใน INCOTERMS ซึ่งเป็นข้อสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศสำเร็จรูปที่หอการค้าระหว่างประเทศหรือ ICC เป็นผู้รวบรวม

ในสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศที่มีเงื่อนไข CIF “ผู้ขาย” (seller) มีหน้าที่จัดหาประกันภัย (insurance) และจัดหาระวางเรือ (shipping space) ทำให้ผู้ซื้อ (buyer) ไม่ต้องทำหน้าที่ดังกล่าว ผู้ขายจึงมีสิทธินำต้นทุนดังกล่าวมาบวกในราคาสินค้าได้ ตรงนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้ซื้อ ทำให้ผู้ซื้อไม่ต้องลำบากหาประกันภัยและหาระวางเรือในต่างประเทศซึ่งเป็นประเทศต้นทางเอง ขณะที่ผู้ขายก็มีสิทธิคิดกำไรจากส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นได้

“การชำระราคา” ตามสัญญาที่มีเงื่อนไขแบบ CIF เป็นการชำระราคาเมื่อส่งมอบเอกสารถึงมือ (payment against tender of documents) หมายความว่าเมื่อเอกสาร ได้แก่ ใบแจ้งหนี้ (invoice) กรมธรรม์ประกันภัย (insurance policy) และใบตราส่ง (bill of lading หรือ B/L) ถึงมือผู้ซื้อแล้ว ผู้ซื้อมีหน้าที่ชำระราคาสินค้าแก่ผู้ขายทันทีแม้สินค้ายังขนส่งไปไม่ถึงมือผู้ซื้อก็ตาม เว้นแต่จะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น เช่น ตกลงว่าให้ชำระภายใน 30 วันเมื่อเอกสารถึงมือ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ซื้ออาจสลักหลัง B/L เพื่อโอนสิทธิในสินค้าที่อยู่ระหว่างขนส่งให้แก่บุคคลภายนอก (third party) ได้ เมื่อบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้รับโอนได้รับ B/L จากผู้ซื้อเดิมแล้ว ก็เอา B/L นั้นไปเคลมกับผู้ขนส่ง (carrier) และขอออกของที่ศุลกากรตรงคลองเตยหรือท่าเรืออื่นได้

ศาลอังกฤษโดย Lord Atkinson ได้สรุปลักษณะของสัญญาแบบซื้อขายแบบ CIF ไว้ในคดี Johnson v Taylor Bros ว่า

“เมื่อผู้ซื้อกับผู้ขาย (ไม่ใช่ “และ” ผู้ขายนะครับ ภาษาสัญญาต้องใช้คำว่า “ระหว่าง” A “กับ”B) ทำสัญญาซื้อขายแบบเงื่อนไข CIF แล้ว หากไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นไว้ในสัญญา ผู้ขายย่อมมีหน้าที่กระทำการดังต่อไปนี้

First, to make out an invoice of the goods sold.

ประการแรก ทำใบแจ้งหนี้สำหรับสินค้าที่ซื้อขาย

Secondly, to ship at the port of shipment goods of the description contained in the contract.

ประการที่สอง ส่งมอบของที่ท่าเรือซึ่งระบุไว้ในสัญญา

Thirdly, to procure a contract of affreightment under which the goods will be delivered at the destination contemplated by the contract.

ประการที่สาม ทำสัญญารับขนของทางทะเลเพื่อส่งมอบของไปยังสถานที่ซึ่งระบุไว้ในสัญญา

Fourthly, to arrange for an insurance upon the terms current in the trade which will be available for the benefit of the buyer.

ประการที่สี่ จัดให้มีประกันภัยตามเงื่อนไขที่ใช้แพร่หลายทางการค้าในขณะนั้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อ

Fifthly, with all reasonable dispatch to send forward and tender to the buyer these shipping documents, namely, the invoice, bill of lading and policy of assurance, delivery of which to the buyer is symbolic delivery of the goods purchased, placing the same at the buyer’s risk and entitling the seller to payment of their price … if no place be named in the CIF contract for the tender of the shipping documents they must prima facie be tendered at the residence or the place of business of the buyer.

ประการที่ห้า ส่งมอบเอกสารประกอบการขนส่งอันได้แก่ ใบแจ้งหนี้ ใบตราส่ง และกรมธรรม์ประกันภัย ให้แก่ผู้ซื้อโดยพลัน โดยการส่งมอบเอกสารดังกล่าวเป็นการส่งมอบสินค้าเชิงสัญลักษณ์ ทำให้ความเสี่ยงในสินค้าดังกล่าวโอนไปยังผู้ซื้อและทำให้ผู้ขายมีสิทธิได้รับชำระราคาแล้ว … หากไม่ได้ระบุสถานที่ส่งมอบเอกสารประกอบการขนส่งไว้ในสัญญาซื้อขายแบบ CIF ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสถานที่ในการส่งมอบเอกสารนั้นได้แก่ถิ่นที่อยู่หรือสถานที่ทำการของผู้ซื้อ”

ที่แปลมานี้มีศัพท์ สำนวน และหลักกฎหมายซ่อนอยู่เยอะนะครับ บางทีอ่านผ่าน ๆ อาจสังเกตไม่เห็น แต่ไม่ขอเขียนในทีนี้นะครับ

ที่เขียนมานี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ใช้เงื่อนไข CIF ยังมีประเด็นอื่น ๆ อีกมาก เช่น เรื่องประกันภัย (insurance) การส่งมอบเอกสาร (tender of documents) การโอนไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขาย (passing of property) และการโอนไปซึ่งความเสี่ยงภัยในทรัพย์สินที่ซื้อขาย (passing of risks) ถ้าสนใจอ่านเพิ่มเติม ผมลิสต์ชื่อหนังสือไว้ท้ายบทความแล้วครับ

สวัสดีครับ

บทความโดย

พุทธพจน์ นนตรี (ทนายเนส)

เอกสารอ้างอิง

Carr, Indira. 2005. “International Trade Law”. Portland, Cavendish Publishing Limited, 2005.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้