ฉ้อโกงคืออะไรในทางกฎหมาย

430 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฉ้อโกงคืออะไรในทางกฎหมาย

ฉ้อโกง (false pretense) ในทางกฎหมาย คือ การหลอกลวงผู้อื่นโดยทุจริตด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดไม่บอกความจริงที่ควรบอก และเพราะการหลอกลวงนั้นจึงได้ทรัพย์สินของผู้อื่นไป หรือทำให้ผู้อื่นทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ

หากแปลเป็นภาษาง่าย ๆ ก็คือ

1) การหลอกลวงเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเพื่อประโยชน์ในทางที่มิชอบ หรือ
2) การหลอกให้ผู้อื่นทำ เพิกถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิเพื่อประโยชน์ในทางที่มิชอบนั่นเอง

ฉ้อโกงเป็นความผิดอาญา (criminal wrong) กล่าวคือเป็นความผิดที่มีโทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ หรือริบทรัพย์ และเป็นคดีละเมิดทางแพ่ง (civil tort) ด้วย กฎหมายจึงกำหนดให้ฟ้องผู้กระทำผิดให้รับโทษทางอาญาและเรียกค่าสินไหมทดแทน (ค่าเสียหาย) ในทางแพ่งอย่าง 'คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา' ได้

กฎหมายไทยบัญญัติความผิดฐานฉ้อโกงไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ถึงมาตรา 348 ซึ่งมีองค์ประกอบแตกต่างกันไปตามแต่ละฐานความผิด

องค์ประกอบหลัก ๆ ของความผิดฐานฉ้อโกงปรากฏในมาตรา 341 ซึ่งมีดังนี้

1) มีการ ‘หลอกลวง’ (deception)
2) ด้วยการ ‘แสดงข้อความอันเป็นเท็จ’ (by means of untrue representations) หรือ ‘ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง’ (representation by silence)
3) ผู้หลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม (permanently deprive another of his property) หรือผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ เพราะการกระทำตามข้อ 1) และ 2)
4) ด้วยเจตนาที่จะฉ้อโกง (with the intent to defraud) และด้วยเจตนาทุจริต

ปกติฉ้อโกงเป็นความผิดอัน ‘ยอมความได้’ คือ เป็นความผิดที่ตกลงกันให้ยุติคดีได้ทุกเมื่อ

แต่หากการฉ้อโกงนั้นกระทำกับ ‘ประชาชนทั่วไป’ กล่าวคือไม่ได้มุ่งเป้าไปที่คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น แชร์ลูกโซ่ผ่านเฟสบุ๊คเพื่อหลอกคนทั่วไป เป็นต้น ก็จะเป็นความผิดฐาน ‘ฉ้อโกงประชาชน’ ตามมาตรา 343 ทันที โทษก็จะหนักขึ้นและ ‘ยอมความไม่ได้’

หากฉ้อโกงผ่าน 'ระบบคอมพิวเตอร์' เช่น โพสต์เฟสบุ๊คแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์จากผู้อื่น ก็อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ด้วย

แต่ละประเทศมองความผิดฐานฉ้อโกงไม่เหมือนกัน บางประเทศกำหนดความหนักเบาของโทษและประเภทของความผิดตาม ‘ราคาทรัพย์’ เช่น สหรัฐอเมริกาในบางมลรัฐ เป็นต้น แต่บางประเทศกำหนดตาม ‘พฤติการณ์ความร้ายแรงของการกระทำผิด’ เช่น ประเทศไทย เป็นต้น

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ

ขอบคุณครับ

บทความโดย

พุทธพจน์ นนตรี (ทนายเนส)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้