พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566

227 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566

พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

กฎหมายตัวนี้สำคัญกับ “ประชาชน” และ “ภาคธุรกิจ” มากครับเพราะไม่ว่าใคร สถานะอะไร อาชีพอะไร ก็อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่หวัง “ดูดเงิน” จากบัญชีของเราหรือ “ฉ้อโกง” เราผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้น เราจึงควร “ทราบ” สิทธิตามกฎหมายไว้ก่อน จะได้ปฏิบัติตัวถูกต้องหากตกเป็นผู้เสียหาย

ทนายของเราจึงขอสรุปกฎหมายดังกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไปตามลำดับ ดังนี้

1. ผู้เสียหายมีสิทธิแจ้ง “ธนาคาร” หรือ “ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” ให้ “ระงับการทำธุรกรรม (อายัดบัญชี)” ไว้ “ชั่วคราว” ก่อนหากพบว่าตนเองเข้าข่ายตกเป็นผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เช่น ถูกดูดเงินในบัญชี หรือถูกหลอกจากแชร์ลูกโซ่ทางเฟสบุ๊ค เป็นต้น 

เมื่อธนาคารได้รับแจ้งเหตุและเห็นว่าเข้าข่ายแล้ว ธนาคารต้องระงับการทำธุรกรรมที่เข้าข่ายเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (อายัดบัญชี) ไว้ก่อนแล้วแจ้งให้ผู้เสียไปแจ้งความกับตำรวจภายใน "72 ชั่วโมง" โดยไม่มีสิทธิ “เกี่ยง” ให้ไปแจ้งความก่อนแล้วค่อยเอาใบแจ้งความมาขออายัดบัญชีกับทางธนาคารเหมือนในอดีตอีกต่อไป

2. ผู้เสียหายมีสิทธิ “แจ้งความ” ตามข้อ 1. กับตำรวจได้ “ทุก สน. ทั่วราชอาณาจักร” หรือไปแจ้งความกับส่วนกลางที่มีเครื่องไม้เครื่องมือดีกว่า นั่นคือ “กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ก็ได้

3. “ผู้เสียหาย” สามารถ “แจ้งความได้ด้วยตนเอง” หรือ “ส่งอีเมล์” ไปแจ้งก็ได้โดย “ถือว่า” เป็นการร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย

4. การแจ้งธนาคารหรือผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์นี้ กฎหมายไม่ได้เขียนว่าผู้เสียหายต้องเอาพยานหลักฐานมาแสดง ผู้เสียหายแค่เป็น “ผู้ถือบัญชีฯ” และแจ้งว่ามีการทำธุรกรรมที่ “เข้าข่ายเกี่ยวข้อง” กับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านบัญชีของตนก็พอ เมื่อธนาคารตรวจสอบแล้วพบว่าเข้าข่าย ธนาคารก็มีหน้าที่ต้องระงับการทำธุรกรรมไว้ชั่วคราวแล้ว

5. เมื่อแจ้งธนาคารตามข้อ 1. เรียบร้อย ธนาคารต้องแจ้งให้ผู้เสียหายไป “ร้องทุกข์” (แจ้งความ) กับตำรวจภายใน “72 ชั่วโมง” เมื่อแจ้งความเสร็จแล้ว ตำรวจต้อง “แจ้ง” ให้ธนาคารทราบเพื่อให้ธนาคารอายัดบัญชีไว้ในระหว่างตรวจสอบชั่วคราว (7 วัน) ธนาคารต้องรวบรวมรายการธุรกรรมที่ทำผ่านบัญชีที่แจ้งความแล้วส่งข้อมูลให้ตำรวจเพื่อรวบรวมเป็นพยานหลักฐานไว้ดำเนินคดีต่อไป

ตำรวจต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เสร็จภายใน “7 วัน” นับตั้งแต่วันรับแจ้งความ (จุดนี้ แก้ปัญหาตำรวจ “ดองคดี” ไว้ตลอดกาลแบบที่เจอกันเป็นประจำได้) หากพบว่า เข้าข่ายเป็นความผิด ก็สั่งระงับบัญชีทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง (รวมถึงบัญชีม้าซึ่งรับเงินปลายทางด้วย) แต่หากพบว่าไม่เข้าข่าย ก็สั่งยกเลิกการระงับบัญชีต่อไป

6. ตามกฎหมายตัวใหม่นี้ พนักงานสอบสวน “ทุก สน.” หมดสิทธิที่จะ “เกี่ยง” ไม่รับแจ้งความโดยอ้างว่า “คดีไม่อยู่ในท้องที่ผม” ได้ เมื่อผู้เสียหายมาแจ้งความแล้ว ตำรวจมีหน้าที่ “รับแจ้งความ” “มีอำนาจสอบสวน” และเป็น “ผู้รับผิดชอบ” คดีนั้นทันที ดังนั้น ถ้าเงินถูกดูดที่เชียงใหม่ แต่มารู้ตัวตอนกลับบ้านที่กรุงเทพฯแล้ว ก็สามารถแจ้งความกับตำรวจ สน. ใกล้บ้านหรือ สน. ไหนก็ได้โดยตำรวจไม่มีสิทธิเกี่ยงว่าความผิดไม่ได้เกิดในท้องที่ผม

7. นอกจากธนาคารจะมีหน้าที่แจ้งหรือเปิดเผยข้อมูลให้เจ้าหน้าที่แล้ว บริษัทที่ให้บริการสัญญาณมือถือหรือโทรคมนาคมก็มีหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่มาลงทะเบียนเปิดซิม (SIM) ไว้กับตนด้วย

8. ใครเปิด “บัญชีม้า” ให้คนอื่น หรือให้คนอื่นใช้หรือยืมเบอร์โทรศัพท์โดย “รู้” หรือ “ควรรู้” ว่าเขาจะเอาไปใช้ก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี (“เบอร์ม้า”) มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

9. ใครเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวไม่ว่าวิธีใด เพื่อให้มีการขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เอาใช้ก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดฐานอื่น ๆ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

10. ใครเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวไม่ว่าวิธีใด เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเบอร์มือถือซึ่งลงทะเบียนเป็นชื่อคนหนึ่ง แต่ระบุตัวผู้ใช้บริการไม่ได้ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

11. พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย PDPA ดังนั้น จึงไม่ต้องขอความยินยอมเจ้าของข้อมูลก่อนเปิดเผยข้อมูลใดตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้

ขอบคุณครับ

พุทธพจน์ นนตรี

ทนายความ

สำนักกฎหมายณัฐพจน์ ลีกัล เซอร์วิส ให้บริการว่าความในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้มีอรรถคดี

ท่านสามารถตรวจสอบบริการของเราได้ที่หัวข้อ “บริการ” ในเว็บไซต์หรือติดต่อเราผ่านช่องทางที่ระบุไว้ด้านล่างสุดของหน้าหรือในหัวข้อ "ติดต่อเรา" ครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้