ภาพหรือการ์ตูนจาก AI มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายหรือไม่

8482 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาพหรือการ์ตูนจาก AI มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายหรือไม่

สงสัยมั้ยครับว่า “งานศิลป์หรืองานการ์ตูน” ที่สร้างจาก AI เป็นงานที่มี “ลิขสิทธิ์” ตามกฎหมายหรือไม่
 
สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐ (USCO) ได้วินิจฉัยประเด็นนี้เมื่อวันนี้ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ผมจึงถือโอกาสนี้สรุปคำวินิจฉัยความยาวประมาณ 20 หน้ามาให้อ่านสั้น ๆ กันครับ 
 
ขอเรียนไว้ก่อนว่า คำวินิจฉัยนี้เป็นแนวของสหรัฐฯ บางส่วนก็ต่างจากแนววิเคราะห์ของที่อื่น เช่น ของอังกฤษ เป็นต้น ดังนั้น จึงควรอ่านเป็นข้อมูลและลองเปรียบเทียบกับแนววิเคราะห์ของประเทศอื่นด้วยครับ ส่วนเมืองไทยยังไม่มีประเด็นนี้ในขณะที่เขียนบทความครับ
 
1. ที่มาที่ไป (Background)

ประเด็นในคดีนี้เกิดจากการ์ตูนชื่อ Zarya of the Dawn ซึ่งคุณ Kristina Kashtanova สร้างสรรค์โดยใช้แอปพลิเคชันสร้างภาพด้วย AI ชื่อ Midjourney เป็นเครื่องช่วย

สหรัฐอเมริกามีระบบจดทะเบียนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐ (USCO) เป็นหน่วยงานรับจด คุณ Kristina Kashtanova จึงยื่นจดลิขสิทธิ์ในงานการ์ตูนโดยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงว่าใช้ AI เป็นเครื่องช่วย  

ต่อมา สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐทราบข้อจริงดังกล่าว จึงมีหนังสือให้คุณ Kristina Kashtanova ชี้แจง คุณ Kristina Kashtanova จึงชี้แจงเป็นหนังสือผ่านทนายความจากสำนักงาน Taylor English Duma LLP ยอมรับว่าตนเองใช้ AI ช่วยสร้างจริง แต่งานที่ใช้ AI สร้างสรรค์นั้นก็เป็นงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของเธอเองและใช้ความอุตสาหะในกระบวนการสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐไม่เห็นด้วยและมีหนังสือตอบกลับมาลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ระบุเหตุผลในการยกเลิกทะเบียนลิขสิทธิ์ที่เคยออกให้ก่อนหน้านั้นและรับจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในงานให้เพียงบางส่วน

2. คำวินิจฉัย

สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐ (USCO) วินิจฉัยประเด็นเรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ที่ใช้ AI เป็นตัวช่วย ดังนี้

2.1 หลักกฎหมายอันเป็นฐานในการวินิจฉัย

ตามหลักกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว งานที่จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ต้องเป็นงานที่ผู้สร้างสรรค์สรรค์สร้างงานจาก ความคิดริเริ่มของตนเอง (works of original authorship) โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบความคิดของผู้อื่นแต่อย่างใด 

คำว่า “ริเริ่มสร้างสรรค์” (original) มี 2 องค์ประกอบ ได้แก่

1) สร้างสรรค์ด้วยความคิดของตนเอง (independent creation) และ

2) มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในปริมาณที่เพียงพอ (sufficient creativity)

ศาลในคดี Feist Publ’ns, Inc. v. Rural Tel. Serv. Co., 499 U.S. 340, 345 (1991) วางหลักไว้ว่า ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องมีปริมาณมาก แต่มีปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ได้ (modicum of creativity) ขอเพียงแต่แสดงออกให้เห็นว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ของผู้นั้นก็เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม งานอันเกิดจากความคิดริเริ่มของตนเองนี้ต้องเป็นงานที่สร้างสรรค์โดย “มนุษย์” เท่านั้น จะสร้างโดยอัตโนมัติจาก “เครื่องจักร” ไม่ได้ สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐระบุไว้ชัดเจนในหนังสือรวมคำวินิจฉัยของสำนักงาน (Compendium of U.S. Copyright Office Practices)

นอกจากนี้ ศาลฎีกาสหรัฐฯ ในคดี Burrow-Giles Lithographic Co. v. Sarony ตั้งแต่ พ.ศ. 2427 (ค.ศ.1884) ก็มีโอกาสได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า “รูปถ่าย” เป็นงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์อันอาจมีลิขสิทธิ์ได้ หรือเป็นเพียงงานที่จำลองตัววัตถุหรือบุคคลไปไว้เป็นภาพบนกระดาษเท่านั้นซึ่งไม่อาจมีลิขสิทธิ์ได้

ศาลในคดีนี้วินิจฉัยว่า รูปถ่ายเป็นงาน “อันมีลิขสิทธิ์” ได้หากเกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้ถ่ายเอง แต่หากรูปถ่ายนั้นไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในตัวงาน แต่เกิดจากกระบวนการทาง "กลจักร"  (merely mechanical process) เท่านั้นโดยปราศจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใด ๆ รูปถ่ายนั้นก็ไม่อาจมีลิขสิทธิ์ได้  

โดยสรุปแล้ว งานที่เกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของมนุษย์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่หากเป็นงานที่เกิดจากกลจักรโดยไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของมนุษย์ปรากฏออกมาให้เห็นเลย งานนั้นก็ไม่ได้ลิขสิทธิ์แต่อย่างใด 

2.2 คำวินิจฉัย

สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐ (USCO) วินิจฉัยว่า งานการ์ตูนของคุณ Kristina Kashtanova สามารถจดทะเบียนลิขสิทธิ์ได้บางส่วนและบางส่วนไม่อาจจดทะเบียนได้ คำวินิจฉัยดังกล่าวสรุปได้ดังนี้

2.2.1 ข้อความในงาน (Text)

เนื่องจากข้อความ (text) ที่อยู่ในงานการ์ตูนเขียนโดยคุณ Kristina Kashtanova ทั้งหมดโดยไม่ใช้เครื่องมือใดช่วย ข้อความในการ์ตูนจึงจดทะเบียนได้ (registrable)

2.2.2 การคัดเลือกและจัดเรียงภาพและข้อความ (Selection and Arrangement of Images and Text)

ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานที่เกิดจากการ “คัดเลือกหรือจัดลำดับข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดในลักษณะซึ่งมิได้ลอกเลียนงานของบุคคลอื่น” (compilation)

งานของคุณ Kristina Kashtanova เกิดจากการ “คัดเลือก ขัดเกลา ตัด วางตำแหน่ง วางกรอบ และจัดวาง” ภาพเพื่อให้เกิดเรื่องราวในหน้ากระดาษ จึงเป็นส่วนงานที่เกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตัวคุณ Kristina Kashtanova เอง

ดังนั้น งานส่วนการจัดวางรูปแบบในการ์ตูนจึงเป็นส่วนที่ได้รับความคุ้มครองให้มีลิขสิทธิ์ได้

2.2.3 ภาพประกอบงาน (Images)

งานภาพประกอบในการ์ตูนเกิดจากการใช้แอปพลิเคชัน Midjourney ซึ่งอาศัยเทคโนโลยี AI เป็นเครื่องช่วย จึงมีประเด็นว่า ภาพประกอบงานนี้เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้หรือไม่

ได้อธิบายไปแต่ต้นแล้วว่า งานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ต้องเป็นงานที่เกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของ “มนุษย์” งานที่เป็นเพียงการผลิตซ้ำโดยเครื่องจักรกลโดยปราศจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของมนุษย์ย่อมไม่อาจได้รับความคุ้มครอง

สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐ (USCO) เริ่มวินิจฉัยด้วยการพิจารณาลักษณะการทำงานของแอปพลิเคชัน Midjourney ก่อน

จากการพิจารณาพบว่า Midjourney ทำงานโดยมีขั้นตอนดังนี้

1) ใส่ “คำกระตุ้น” (prompts) เข้าไปในช่องที่กำหนด

2) ระบุ “คำกระตุ้น” ให้ตรงหรือใกล้เคียงกับภาพที่ต้องการสร้างโดยอาจแนบลิงค์ที่มีภาพที่อยากสร้างเข้าไปได้

3) เมื่อระบุคำกระตุ้นเข้าไปแล้ว ระบบจะสร้างภาพการ์ตูนตัวอย่างให้อัตโนมัติ 4 ภาพภายในเวลาไม่กี่วินาที หากไม่พอใจ ก็ใส่คำกระตุ้นใหม่เพื่อให้ระบบสร้างภาพขึ้นมาใหม่ หรือกดคำสั่งอัตโนมัติให้ระบบเกลาภาพให้เนียนขึ้น

4) คำกระตุ้นเป็นเพียงข้อแนะนำ ภาพที่สร้างขึ้นมาเกิดจากระบบ AI ที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้ว เมื่อได้รับคำค้น ระบบจะนำคำกระตุ้นไปวิเคราะห์แล้วสร้างภาพขึ้นโดยตัวระบบเอง ตัวคำกระตุ้นเองไม่ใช่คำสั่งการ (order) ของผู้ใส่คำกระตุ้นแต่อย่างใด

หลังจากพิจารณาลักษณะการทำงานข้างต้น สำนักงานฯ จึงสรุปว่า ภาพการ์ตูนที่สร้างจาก Midjourney “ไม่ใช่งานที่เกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของมนุษย์” เพราะ

1) แอปพลิเคชันดังกล่าวสร้างภาพขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ไม่ได้เกิดจากการสั่งการของมนุษย์

2) คำกระตุ้นที่มนุษย์ใส่เข้าไปในระบบเป็นเพียง “คำแนะนำ” (suggestions) ให้ระบบสร้างภาพ ไม่ใช่คำสั่งการ (orders) ของมนุษย์ที่ทำให้มนุษย์มีอำนาจควบคุมเหนือรูปที่สร้าง เสมือนลูกค้าที่จ้างศิลปินให้วาดภาพซึ่งไม่ได้สร้างสรรค์งานเอง แต่ศิลปินต่างหากที่นำความประสงค์กว้าง ๆ ของลูกค้าไปแปลงเป็นรูปภาพในชั้นที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทนายของคุณ Kristina Kashtanova พยายามแย้งด้วยเหตุผลว่า งานภาพประกอบของคุณ Kristina Kashtanova ควรเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์และจดทะเบียนได้เพราะภาพดังกล่าวเป็น “ภาพสะท้อนของความคิดสร้างสรรค์ในการคัดเลือกคำกระตุ้นโดยมนุษย์เอง” ภาพดังกล่าวจึงสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์แล้ว แต่สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐ (USCO) ไม่เห็นด้วยตามเหตุผลที่ระบุไว้ข้างต้น

นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่อง “ความอุตสาหะที่ใช้ในการสร้างงาน” (Sweat of the brow) สำนักงานฯ “ปฏิเสธ” ไม่ยอมรับหลักดังกล่าวอย่างชัดแจ้งโดยกล่าวว่า แม้คุณ Kristina Kashtanova จะใช้เวลาและความอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานผ่านแอปพลิเคชัน Midjourney มากเพียงใด ก็ไม่ทำให้งานของเธอได้ลิขสิทธิ์เนื่องจากแนววินิจฉัยของสำนักงานฯ และศาลในคดี Feist วินิจฉัยรับรองกันมานานแล้วว่าหลัก Sweat of the brow ไม่อาจอ้างเพื่อให้งานมีลิขสิทธิ์ได้   

3. สรุป

งานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ต้องเป็นงานที่เกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของ “มนุษย์” งานที่เป็นเพียงการผลิตซ้ำโดยเครื่องจักรกลโดยปราศจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของมนุษย์ย่อมไม่อาจได้รับความคุ้มครอง

ภาพที่สร้างจากเทคโนโลยี AI ไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ได้เพราะเป็นงานที่สร้างโดยกลจักรอัตโนมัติ ไม่ได้สร้างจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของมนุษย์แต่อย่างใด

ส่วนงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เช่น ข้อความในการ์ตูนหรือการคัดเลือกและจัดวางข้อความในการ์ตูน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐก็ทิ้งท้ายว่า หากต่อไป มีแอปพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งให้มนุษย์เข้าไปมีส่วนในการออกแบบสร้างสรรค์งานเองในระดับที่เพียงพอ งานที่สร้างสรรค์ออกมาก็อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ครับ

ขอบคุณครับ

บทความโดย

พุทธพจน์ นนตรี

ทนายความ
 

สำนักงานกฎหมายณัฐพจน์ ลีกัล เซอร์วิส ให้บริการว่าความในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้มีอรรถคดี

ท่านสามารถตรวจสอบบริการของเราได้ที่หัวข้อ “บริการ” ในเว็บไซต์หรือติดต่อเราผ่านช่องทางที่ระบุไว้ด้านล่างสุดของหน้าหรือในหัวข้อ "ติดต่อเรา" ครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้