591 จำนวนผู้เข้าชม |
NDA มาจากภาษาอังกฤษคำว่า Non-disclosure agreement หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “สัญญาห้ามเปิดเผยข้อมูลอันเป็นความลับ”
สัญญาตัวนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า Confidentiality agreement หรือ “สัญญารักษาความลับของข้อมูล” ครับ
สัญญานี้ทำหน้าที่คุ้มครองข้อมูลทางธุรกิจไม่ให้รั่วไหลออกไปจากองค์กร
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าระหว่างที่ยังเป็นลูกจ้าง คู่ค้า หรือหุ้นส่วนกันอยู่ ต่างฝ่ายก็อาจล่วงรู้ข้อมูลของอีกฝ่ายและอาจเอาข้อมูลออกไปเปิดเผยได้ ดังนั้น ความเสี่ยงจึงเกิดขึ้นแล้ว ธุรกิจจึงทำสัญญากันเพื่อบังคับไม่ให้แต่ละฝ่ายเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของตนให้บุคคลภายนอกทราบ
คราวนี้เรามาดูกันว่าควรระบุอะไรบ้างในสัญญาฉบับนี้
1) ระบุนิยามให้ชัดเจนว่า “ข้อมูล” อะไรบ้างที่ประสงค์จะให้เป็น “ความลับ”
การจะทำให้ข้อมูลกลายเป็นความลับได้มีอยู่ 2 ทางด้วยกันครับ คือ 1) ระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่าให้ข้อมูล “ทั้งหมด” ที่เปิดเผยให้อีกฝ่ายทราบถือเป็นข้อมูลอันเป็นความลับ หรือ 2) ระบุให้เฉพาะข้อมูลที่คาดคำว่า “เป็นความลับ” หรือ “confidential” ไว้ในเอกสารเท่านั้นเป็นข้อมูลอันเป็นความลับตามสัญญา
ก็แล้วแต่ว่าจะเอาไปปรับใช้กันอย่างไรครับ
2) ข้อจำกัดสิทธิในการนำข้อมูลไปใช้
ตรงนี้เราสามารถระบุในสัญญาได้ครับว่า ฝ่ายที่ได้รับข้อมูลมีสิทธิเอาข้อมูลที่ได้รับไปใช้ทำอะไรได้บ้าง หลัก ๆ คือต้องเอาไปใช้ภายในขอบวัตถุประสงค์ของสัญญาเท่านั้น หากเอาไปใช้นอกขอบวัตถุประสงค์ ก็จะเป็นการผิดสัญญาทันที
นอกจากนี้ บริษัทใหญ่ ๆ มีพนักงานในองค์กรอยู่มาก พนักงานเหล่านี้ก็อาจล่วงรู้ข้อมูลสำคัญและเอาไปเปิดเผยได้ ดังนั้น สัญญาควรระบุว่า เฉพาะผู้ที่ “จำเป็นต้องรู้” เท่านั้นที่มีสิทธิเข้าถึงและใช้ข้อมูลนั้นได้ หลักการนี้เรียกว่า “need-to-know basis” ครับ
3) ข้อยกเว้นการใช้ข้อมูล
เมื่อสัญญาเขียนห้ามไม่ให้เอาข้อมูลไปเปิดเผย ก็ต้องเขียนข้อยกเว้นไว้ด้วยว่ากรณีเป็นการเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ถือว่าผิดสัญญา มิฉะนั้น สัญญาก็จะเคร่งครัดจนเกินไป
ข้อยกเว้นนี้ ได้แก่ 1) มีคำสั่งศาลบังคับให้เปิดเผยข้อมูล 2) มีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่บังคับให้เปิดเผยข้อมูล 3) เป็นข้อมูลที่รับรู้กันทั่วไปแล้วในขณะที่เปิดเผย หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “public domain” 4) เป็นข้อมูลที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสร้างขึ้นมาเอง 5) เป็นข้อมูลที่ได้รับมาจากบุคคลภายนอกสัญญาและบุคคลภายนอกสัญญาก็ไม่ห้ามให้เปิดเผยข้อมูล 6) คู่สัญญาฝ่ายเจ้าของข้อมูล “ยินยอม” ให้เปิดเผยได้
4) การส่งมอบข้อมูลคืน
เมื่อสัญญาสิ้นอายุหรือบอกเลิกกันแล้ว ควรระบุให้แต่ละฝ่ายส่งมอบข้อมูลที่ได้รับมาในระหว่างสัญญาคืนให้แก่อีกฝ่ายและลบหรือทำลายข้อมูลของอีกฝ่ายที่อยู่ในความครอบครองของตัวเองด้วย
5) อายุสัญญา
สัญญาควรกำหนดอายุไว้โดยอาจกำหนดให้มีอายุไปตลอดที่ยังทำธุรกิจด้วยกัน เป็นลูกจ้างกัน หรือตามระยะเวลาอื่นก็ได้ เช่น 1 ปี 2 ปี 5 ปี เป็นต้น
ที่เล่าให้ฟังนี้เป็นความรู้คร่าว ๆ ครับ ยังมีจุดอื่นอีกมากที่ควรปรึกษาผู้รู้ เช่น ถ้อยคำที่ควรใช้ในสัญญา ข้อกำหนดเรื่องการห้ามค้าขายแข่งขันกัน และอื่น ๆ อีกมากครับ
ขอบคุณครับ
พุทธพจน์ นนตรี
ทนายความ
สำนักงานกฎหมายณัฐพจน์ ลีกัล เซอร์วิส ให้บริการว่าความในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้มีอรรถคดี
ท่านสามารถตรวจสอบบริการของเราได้ที่หัวข้อ “บริการ” ในเว็บไซต์หรือติดต่อเราผ่านช่องทางที่ระบุไว้ด้านล่างสุดของหน้าหรือในหัวข้อ "ติดต่อเรา" ครับ